16 กุมภาพันธ์ 2564

บทที่ 1 ทำไมต้องทำวิจัย

 บทที่ 1    ทำไมต้องทำวิจัย

        ในชีวิตประจำวัน เราทุกคนใช้ความคิด เพื่อหาทางเลือกต่างๆ และใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ เป็นประจำ ถ้าในชีวิตเรา ทำงานหรือกิจกรรมราบรื่น ไม่ติดขึด เราคงไม่ต้องทำวิจัยใดๆ เลย เช่น ผมขับรถไปส่งลูกไปโรงเรียนในตอนเช้า ทุกวันก็ขับรถเส้นทางเดิม ไม่ติดขัด ใช้เวลาประมาณ 10 นาที ก็ถึงโรงเรียน  อยู่มาช่วงหลังๆ พบว่า รถติดมากขึ้น ใช้เวลาถึง 30-40 นาทีกว่าจะถึง โรงเรียน ดังนั้นผมจึงเริ่มศึกษาว่า ผมจะขับรถไปเส้นทางไหน จึงจะใช้เวลาน้อยที่สุด และรถติดน้อยที่สด ทำอยู่หลายวัน ก็ได้เส้นทางที่ดี วันจันทร์และศุกร์ต้องใช้เส้นทางที่ 1 วันอื่นๆ ใช้เส้นทางที่ 2 หรือ 3 เป็นต้น  ถ้าทุกวันก่อนหน้านั้นผมขับรถได้ 10 นาที ผมคงไม่ต้องทำการศึกษาเส้นทางอื่นๆ 

        ในการทำงานก็เช่นกัน ถ้าเราทำงานราบรื่น ไม่ติดขัด เราคงไม่ต้องทำวิจัยหรือศึกษาอื่น ๆ สรุปได้ว่า เราจะทำการศึกษา เพราะ

  1. ปัญหาจากการทำงาน ผลงานไม่ได้ตามเป้าหมาย หรือ ทำงานแล้วติดขัด หรือ ไม่ราบรื่น 
  2. การเกิดความผิดพลาด เกิดข้อร้องเรียน หรือ ความไม่พึงพอใจของผู้รับบริการ 
  3. ความรู้ที่เราได้หรือมี ไม่ตรงกับของคนอื่น หรือไม่ตรงกับตำรา
  4. มีปรากฎการณ์เกิดขึ้นที่ไม่เคยเกิดมาก่อน เช่น COVID-19 ยาตัวใหม่
  5. การรักษาผู้ป่วยไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร หรือเกิดอาการป่วยซ้ำ หาปัจจัยเสี่ยง
  6. ความอยากรู้ อยากเห็นความสนใจ พิเศษ


        การวิจัย หมายถึง กระบวนการค้นคว้าหาความรู้อย่างมีระบบ เพื่อตอบประเด็นที่สงสัย โดยมีระเบียบวิธีอันเป็นที่ยอมรับในศาสตร์แต่ละศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง (คณะทำงานยกร่างจรรยาบรรณนักวิจัยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ , 2554)

        อย่างไรก็ตาม บางครั้งปัญหาก็ไม่จำเป็นต้องทำวิจัยเสมอไป เช่น เมื่อเกิดปัญหาแล้วเราทบทวนความรู้ ทฤษฎีต่าง ๆ อาจพบคำตอบของปัญหาได้ ก็ไม่จำเป็นต้องทำการวิจัยแต่อย่างใด

ในทางการแพทย์และ สาธารณสุข เราสามารถแบ่งเป็น

  1. การวิจัยสาธารณสุข (public Health research)  หมายถึงการศึกษาค้นคว้า หาความรู้ วิธีการ เทคโนโลยีใหม่ เหมาะสม และมีประสิทธิภาพในการป้องกัน รักษาโรค และแก้ปัญหาต่างๆ ในการปฏิบัติงานสาธารณสุข การวิจัยส่วนนี้จะกว้าง ครอบคลุมถึงการบริหารงานด้านสาธารณสุข การรักษา การส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค และการฟื้นฟูสภาพด้วย
  2. ารวิจัยทางคลินิก (Clinical research) หมายถึง การศึกษาค้นคว้าที่มีแบบแผน ในเรื่องของการวินิจฉัยโรค (Diagnosis) สาเหตุและปัจจัยโรค (Etiognosis) การพยากรณ์โรค (Prognosis) การรักษา (Therapeutic) [DEPTh Model]
  3. การวิจัยด้านนโยบาย (Policy research)  จะศึกษาด้านการปฏิรูประบบสุขภาพ  การประกันสุขภาพ การพัฒนามาตรฐานของโรงพยาบาล เป็นต้น
  4. การวิจัยระบบสาธารณสุข (Health care systems research)   จะศึกษาเกี่ยวกับ ระบบโครงสร้างสาธารณสุข ระบบบุคลากร การเงิน การใช้เทคโนโลยี รวมถึงระบบอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านด้วย 


ถ้าเราแบ่งงานวิจัยตาม ระเบียบวิจัย  เราสามารถแบ่งเป๋น

  1. การวิจัยเชิงสังเกต (Observational Research)    เป็นการศึกษาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง โดยผู้วิจัยเป็นเพียงผู้เฝ้าสังเกต ไม่มีกิจกรรม หัตถการหรือเข้าไปแทรกแซงประชากรและกลุ่มที่ศึกษา 
    1. การวิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive Research) เป็นการศึกษาปรากฏการณ์ ที่เกิดขึ้น เฝ้าดู สังเกตหาความเกี่ยวเนื่องของข้อมูล  เช่น  “การสำรวจสภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุ ในอำเภอ เขวาสินรินทร์”   “ความพึงพอใจต่อการบริการของผู้รับบริการคลินิกผู้ป่วยนอก   โรงพยาบาล  เขวาสินรินทร์”  ฯลฯ  นอกจากนี้การวิจัยแบบนี้จะสามารถความเกี่ยวเนื่องกันหรือแนวโน้ม พัฒนาการของเหตุการณ์จากอดีตถึงปัจจุบันและคาดการณ์ไปถึงอนาคตได้ หรือการศึกษากรณีเฉพาะหลายๆครั้ง (Case series) เพื่อหาความรู้ให้แน่นหนักมากขึ้น
    2. การวิจัยเชิงวิเคราะห์ (Analytic Research) เป็นการศึกษาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ของกลุ่มสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่มีปัจจัยและกลุ่มที่ไม่มีปัจจัย (ปัจจัยเป็นสิ่งที่เกิดเอง ไม่ใช่เราไปทำให้เกิด)  นำผลที่เกิดขึ้นมาเปรียบเทียบ พิสูจน์ข้อเท็จจริง พิสูจน์สมมติฐานที่เราสงสัย โดยใช้การคำนวณทางหลักสถิติ เช่น “ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการติดเกมของนักเรียนมัธยมศึกษา อ.ชุมพล-บุรี”  “ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการมาฝากครรภ์ล่าช้าในหญิงตั้งครรภ์ อ.เขวาสินรินทร์”
  2. การวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research)  เป็นการศึกษาปรากฏการณ์ของกลุ่มสองกลุ่ม โดยจัดกิจกรรมหรือควบคุมภาวะบางอย่าง แล้วดูผลที่เกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงหลังจากใส่กิจกรรมนั้นๆ และเปรียบเทียบความแตกต่างตามหลักสถิติ เช่น “การศึกษาผลการให้จิตบำบัดในผู้ป่วยจิตเภท เพื่อจัดการกิจวัตรประจำวัน” “ผลการใส่ทรายทีมีฟอส ต่อจำนวนยุงลายในหมู่บ้านสดอ อำเภอเขวาสินรินทร์” เป็นต้น  
    1. การวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) จะเป็นการทดลองและควบคุมตัวแปรที่จะมีผลทั้งหมด ทั้งตัวอย่างและสภาพแวดล้อม  
    2. การวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi Experimental Research)  เป็นการทดลองที่ไม่สามารถควบคุมสภาวะแวดล้อมได้ทั้งหมด จึงจัดการตัวแปรที่คุมไม่ได้ด้วยการสุ่มตัวอย่าง (Randomization) ให้กลุ่มตัวอย่างคล้ายกันมากที่สุด 

ถ้าเราแบ่งงานวิจัยตามตัวแปรที่ใช้ศึกษา เราสามาถแบ่งเป็น

  1. การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research) เป็นการวิจัยที่ข้อมูลเป็นตัวเลขที่วัดได้ สามารถนำมาวิเคราะห์ทางสถิติ เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ 
  2. การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) เป็นการวิจัยที่ข้อมูลเป็นเชิงคุณภาพ คุณลักษณะ ที่ไม่สามารถนับเป็นตัวเลขได้ เช่น ความรู้ ทัศนคติ ต้องใช้วิธีสังเกต บันทึก ตีความ สร้างข้อสรุป เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาด้านมานุษยวิทยา ด้านสังคมศาสตร์ หรือด้านการศึกษา 


ลักษณะของการวิจัยที่ดี 

  1. ปัญหาหรือข้อสงสัยที่จะทำวิจัย ต้องชัดเจน น่าสนใจ มีประโยชน์ที่จะนำไปใช้ (ไม่ใช่เพียงตอบสนองความอยากรู้ ความสนใจ) หรือทำซ้ำเพื่อให้มีงานวิจัยเท่านั้น 
  2. ต้องมีวัตถุประสงค์ที่แน่นอน ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา หรือหาความเป็นจริงที่สนับสนุน เพื่อประโยชน์ในการอธิบาย  ควบคุมตัวแปร เปรียบเทียบ ทำนายและอ้างอิง 
  3. ต้องทำการศึกษาเพิ่มเติม ทบทวนให้กว้างขวาง หลายมุมมอง (ในปัญหาและวัตถุประสงค์ที่ต้องการศึกษา)
  4. กระบวนการวิจัยต้องมีระบบแบบแผนชัดเจน (Research Methodology) มีความถูกต้อง เหมาะสม กับข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล
  5. มีการเตรียมงาน คน อุปกรณ์ที่ครบถ้วน รวมถึงการสอบเทียบเครื่องมือ การเตรียมทีมงานให้เป็นไปในทางเดียวกัน
  6. การดำเนินการศึกษาต้องมีความรอบคอบ ละเอียด มีเหตุผล กระบวนการการวัด การสังเกต การสอบถามต้องมีความตรง ไม่ลำเอียง
  7. การบันทึกข้อมูลต้องรอบคอบ ละเอียด 
  8. วิเคราะห์ข้อมูล โดยเลือกใช้สถิติที่ถูกต้องเหมาะสม 
  9. อภิปรายและรายงานผลอย่างระมัดระวัง


ลักษณะของนักวิจัยที่ดี

  1. นักวิจัยต้องมีความอยากรู้ อยากเห็น ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
  2. นักวิจัยต้องมีความรู้พื้นฐานในสาขาที่ทำวิจัยหรือเรื่องที่ทำวิจัยเป็นอย่างดี
  3. ก่อนที่นักวิจัยจะเก็บข้อมูลจากบุคคล หน่วยงาน หรือสถาบันใด ๆ จะ ต้องมีการติดต่อขออนุญาตล่วงหน้า และลงมือเก็บรวบรวมข้อมูลหลังจากที่ได้รับอนุญาตแล้ว 
  4. นักวิจัยจะต้องไม่กระทำการใดๆ ในลักษณะของการบังคับจิตใจหรือ ฝืนความรู้สึกของผู้ให้ข้อมูล และทำการวิจัยในลักษณะทดลองจะต้องได้รับการยินยอมจากผู้เข้ารับการทดลอง 
  5. นักวิจัยที่ดีต้องเก็บข้อมูลด้วยความระมัดระวัง ตรงไปตรงมา ไม่ตีความข้อมูลเอง บันทึกข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ไม่แก้ไข ปรับเปลี่ยนข้อมูล
  6. นักวิจัยที่ดีต้องเก็บข้อมูลที่ได้ โดยเฉพาะข้อมูลพื้นฐานเป็นความลับ 
  7. นักวิจัยต้องวิเคราะห์ข้อมูลและรายงานผลการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาจะต้องไม่มีการบิดเบือนปิดบัง ตกแต่ง หรือกำหนดตัวเลขค่าสถิติ ขึ้นเองโดยไม่มีการเก็บข้อมูลต่างๆ มาจริง 
  8. นักวิจัยจะต้องรายงานผลการวิจัยอย่างตรงไปตรงมาใช้ภาษาที่ผู้อ่านเข้าใจความหมายได้ถูกต้องชัดเจน ไม่ปิดบังซ่อนเร้นหรือเขียนรายงานการวิจัยให้เกิดประโยชน์แก่บุคคลกลุ่มใดๆ โดยไม่มีผลการวิจัยที่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจน 
  9. ในการรายงานผลการวิจัย   นักวิจัยที่ดีจะรายงานผลการวิเคราะห์ในลักษณะของผลรวมทั้งหมด โดยไม่นำเอาข้อมูลเฉพาะบุคคลมาเปิดเผยหรือกล่าวอ้างชื่อของบุคคลที่ให้ข้อมูล 
  10. กรณีที่นักวิจัยต้องการนำข้อความรู้ความคิดเห็นหรือข้อค้นพบของบุคคล อื่นมาใช้ประโยชน์ จะต้องอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อความรู้หรือบุคคลที่เป็นผู้ค้นพบข้อความรู้นั้นๆ 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กรุณา แนะนำ อย่างสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์ ครับ ขอบคุณ