3 มีนาคม 2564

บทที่ 3 คำถามการวิจัย

 บทที่ 3  คำถามการวิจัย

Research Questions


     เมื่อเรามีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การทำงานไม่บรรลุ ความผิดพลาด ความขัดแย้ง ความรู้ที่มีไม่เพียงพอ หรือ ไม่ตรงตามทฤษฎี หรือผู้รู้ทั้งหลาย เราย่อมมีคำถามในใจที่เราต้องการคำตอบ นั่นคือ คำถามการวิจัย
     คำถามการวิจัย หมายถึง สิ่งที่นักวิจัยอยากรู้ ศึกษา ค้นหาคำตอบ ดังนั้นคำถามการวิจัยควรเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ หรือไม่สามารถหาคำตอบได้จากตำรา หรือความรู้เดิมที่มีอยู่ก่อนแล้ว
คำถามของการวิจัยเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้วิจัยต้องกำหนดขึ้น (problem identification) และให้นิยามปัญหานั้นอย่างชัดเจน เพราะปัญหาที่ชัดเจนจะช่วยให้ผู้วิจัย กำหนดวัตถุประสงค์ของการวิจัย (จึงต้องตั้งคำถามก่อนแล้วจึงตั้งวัตถุประสงค์) สมมติฐาน ลักษณะ ขนาด และวิธีได้มาของตัวแปร กำหนดวิธีการเก็บ การวิเคราะห์ข้อมูล การตีความและสรุปผลข้อมูล ถ้าผู้วิจัยตั้งคำถามที่ไม่ชัดเจน สะท้อนให้เห็นว่า แม้แต่ตัวก็ยังไม่แน่ใจ ว่าจะศึกษาอะไร ทำให้การวางแผนในขั้นต่อไป เกิดความสับสนได้ คำถามการวิจัยยิ่งเฉพาะเจาะจง ก็ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อการออกแบบการวิจัย
     คำถามของการวิจัยต้องเหมาะสม หรือสัมพันธ์ กับเรื่องที่จะศึกษา โดยควรมีคำถามที่สำคัญที่สุด ซึ่งผู้วิจัย ต้องการคำตอบมากที่สุด เพื่อคำถามเดียว เรียกว่า คำถามหลัก (primary research question) ซึ่งคำถามหลักนี้ จะนำมาใช้เป็นข้อมูล ในการคำนวณ ขนาดของตัวอย่าง (sample size) แต่ผู้วิจัย อาจกำหนดให้มี คำถามรอง (secondary research question) อีกจำนวนหนึ่งก็ได้ ซึ่งคำถามรองนี้ เป็นคำถาม ที่เราต้องการคำตอบ เช่นเดียวกัน แต่มีความสำคัญรองลงมา โดยผู้วิจัย ต้องระลึกว่า ผลของการวิจัย อาจไม่สามารถ ตอบคำถามรองนี้ได้ ทั้งนี้เพราะ การคำนวณขนาดตัวอย่าง ไม่ได้คำนวณเพื่อตอบคำถามรองเหล่านี้


คำถามการวิจัยที่ดี
  • เป็นปัญหาที่สำคัญ มีประโยชน์ ทำให้เกิดความรู้ใหม่หรือใช้ปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้
  • เป็นปัญหาที่สามารถให้คำนิยามปัญหาได้
  • เป็นปัญหาที่สามารถหาคำตอบได้ด้วยวิธีการวิจัย
  • เป็นปัญหาที่สามารถใช้วิชาการ และขั้นตอน หรือเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการเก็บข้อมูลได้
  • เป็นปัญหาที่สามารถหาข้อมูลมาตรวจสอบสมมุติฐาน เพื่อหาข้อสรุป
  • เป็นปัญหาที่สามารถวางแผนการดำเนินงานตามขั้นตอนไว้ล่วงหน้าได้

ลักษณะคำถามการวิจัย
     การเขียนปัญหาการวิจัย ในรูปคำถามสามารถเขียนได้ 3 ลักษณะ คือ
1. ประเด็นคำถามเชิงพรรณนา คือ การกำหนดหัวข้อปัญหาวิจัยในรูปคำถามที่ว่า “อะไรคือ / อะไรเป็น” (What is) คำตอบของประเด็นคำถามดังกล่าวนี้ แสดงเป็นนัยว่า นักวิจัยจะต้องอาศัยการวิจัยเชิงสำรวจ เช่น
     - อะไรคือพฤติกรรมแปลกแยกของนักศึกษาที่มีความเบี่ยงเบนทางเพศ
     - ความชุกของโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ในประชากรอำเภอเขวาสินรินทร์เป็นเท่าไร
     - พฤติกรรมการบริหารของผู้บริหารโรงพยาบาลศูนย์ดีเด่นและไม่ดีเด่นเป็นอย่างไร
2. ประเด็นคำถามเชิงเปรียบเทียบ คือ การกำหนดหัวข้อปัญหาวิจัย ในรูปของคำถามที่มุ่งเน้นการเปรียบเทียบพฤติกรรมหรือปรากฏการณ์ที่สนใจ ระหว่างกลุ่มควบคุมที่ดำเนินตามสภาวะปกติและกลุ่มทดลองที่จัดกระทำทางการทดลองขึ้น กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ รูปแบบของคำถามประเภทนี้มุ่งหาคำตอบว่า “มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มตัวอย่างหรือวิธีการที่นักวิจัยดำเนินการขึ้นหรือไม่” คำถามวิจัยประเภทนี้ต้องอาศัยแบบการวิจัยเชิงทดลอง (experimental design) หรือการศึกษาย้อนรอยเปรียบเทียบหาสาเหตุ (causal comparative design) มาใช้ในการสืบค้นหาคำตอบ เช่น
     - ค่าเฉลี่ยของความสูงของเด็กที่ได้ค่าขนมมาโรงเรียนมากกว่าและน้อยกว่า 50 บาทต่อวัน ต่างกันอย่างไร
     - เพศชายและหญิง มีระดับน้ำตาลในเลือดแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร
3. ประเด็นคำถามเชิงความสัมพันธ์ คือ การกำหนดหัวข้อปัญหาวิจัย ในรูปของคำถามที่มุ่งหาคำตอบว่า “ ตัวแปร X มีความสัมพันธ์กับตัวแปร Y หรือไม่” หรือ “ตัวแปร X พยากรณ์ตัวแปร Y ได้หรือไม่” การสืบหาคำตอบของคำถามทั้ง 2 ประเด็นนี้ แสดงเป็นนัยว่านักวิจัยต้องออกแบบการวิจัยเป็นประเภทการศึกษาหาความสัมพันธ์ (correlation design) เช่น
     - มีปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2
     - เพศ ผลการเรียน จำนวนชั่วโมงในการเล่นเกมรุนแรง เกี่ยวข้องกับการมีพฤติกรรมก้าวร้าวของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นหรือไม่
     - ปัจจัยใดบ้างที่มีอิทธิพลต่อการให้เลือดในการผ่าตัดคลอดในโรงพยาบาลสุรินทร์


ที่มาของคำถามการวิจัย
1. จากทฤษฎีต่างๆ ที่ผู้วิจัยสนใจ เมื่อนักวิจัยได้ศึกษาทฤษฎีบางทฤษฎีแล้วเกิดมีข้อสงสัยว่า ถ้าใส่ตัวแปรบางสิ่งบางอย่างเพิ่มเติมลงไปในตัวทฤษฎีแล้ว น่าจะทำให้ทฤษฎีสามารถนำไปอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น หรือผู้วิจัยบางท่านมีข้อสงสัยว่าทฤษฎีที่กำลังศึกษาอยู่นี้สามารถที่จะนำไปใช้ได้จริงหรือไม่ ในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป
2. จากประสบการณ์ของผู้วิจัยเอง ซึ่งเป็นประสบการณ์โดยตรงจากการปฏิบัติงาน หรือจากการสังเกตสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัวเอง พบว่าสิ่งที่ตนพบไม่ตรงกับทฤษฎี หรือ อยากเปรียบเทียบการรักษาที่ตนค้นคว้าขึ้นมา ทำให้ผู้วิจัยเองอยากรู้คำตอบ
3. จากปัญหาจากการทำงาน ผลงานไม่ได้คุณภาพตามเป้าหมายหรือตามเกณฑ์ เป็นการวิเคราะห์หาสาเหตุ หรือผลการแก้ไขปัญหาว่าได้ผลดีขึ้นหรือไม่
4. จากงานเขียนทางวิชาการ วิทยานิพนธ์ บทความของคนอื่น ผู้วิจัยอ่านข้อเขียนทางวิชาการจากวารสารหรือบทความต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แล้วสนใจในเรื่องนั้นๆ อาจอยากนำมาประยุกต์ใช้ หรือนำมาอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆแล้วพิสูจน์ผลหรือความจริงเหล่านั้น
5. จากข้อเสนอแนะในวิทยานิพนธ์หรืองานวิจัย ซึ่งในบทท้ายของรายงานการวิจัยจะมีข้อเสนอแนะของผู้วิจัยไว้ว่าควรจะทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องอะไรต่อจากงานวิจัยของเขาหรือในงานวิจัยของเขายังขาดอะไรที่ยังไม่ได้ศึกษาที่น่าจะศึกษาเพิ่มเติม ข้อเสนอแนะเหล่านี้เราสามารถนำมากำหนดเป็นปัญหาวิจัย หรือหัวข้อวิจัยได้เลย หลังจากนั้นผู้วิจัยต้องไปศึกษารายละเอียดจากเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อทำความเข้าใจปัญหา วิจัยหรือหัวข้อวิจัยให้ชัดเจนขึ้น
6. จากองค์กรหรือหน่วยงานที่ต้องการใช้ผลงานวิจัย ซึ่งมีหน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชนมีหลายหน่วยงานที่ต้องการใช้ผลงานวิจัยในการบริหารงานในหน่วยงานของตนเอง แต่ไม่ได้ทำวิจัยเองจะให้คนในหน่วยงานอื่นทำให้ โดยจะกำหนดหัวข้อวิจัยหรือปัญหา วิจัยมาให้หรือให้ผู้วิจัยกำหนดปัญหาวิจัยเองก็มีพร้อมทั้งมีงบประมาณจัดสรรมาให้เสร็จ


ปัญหาในการกำหนดคำถามการวิจัย
1. นักวิจัยทำการรวบรวมข้อมูลมาก่อน แล้วจึงตั้งปัญหาภายหลัง ทำให้ข้อมูลที่ได้มานั้นไม่ครบถ้วนหรือไม่เพียงพอที่จะตอบปัญหาที่ตั้งไว้ได้ วิธีแก้ก็คือควรกำหนดปัญหา วัตถุประสงค์ของการวิจัยให้แน่นอน เสร็จแล้วจึงลงมือเก็บข้อมูล ควรจำไว้ว่า ปัญหาการวิจัย เป็นตัวชี้แนะในการเก็บข้อมูล ไม่ใช้ข้อมูลเป็นตัวชี้นำการตั้งปัญหา
2. การตั้งปัญหากำกวม ไม่เอื้ออำนวยให้เก็บข้อมูลได้ ปัญหาที่ดีจะต้องอยู่ในรูปของคำถามซึ่งประกอบไปด้วยตัวแปรอย่างน้อยสองตัว โดยที่ตัวแปรเหล่านั้นแสดงความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันด้วย เช่น X มีความสัมพันธ์กับ Y ใช่หรือไม่?” “X และ Y มีความสัมพันธ์กับ Z อย่างไร?” “X สัมพันธ์กับ Y ภายใต้เงื่อน A และ B อย่างไร?”
3. ปัญหากว้างเกินไป ความยากลำบากอย่างหนึ่งที่นักวิจัยเผชิญคือปัญหามีลักษณะกว้างเกินไป ถ้าปัญหามีลักษณะกว้างมักจะคลุมเครือ ไม่อาจทดสอบได้ จึงไม่มีประโยชน์ถึงแม้จะน่าสนใจก็ตาม ปัญหาที่กว้างและครุมเครือเกินไป จะพบเห็นได้ในสังคมศาสตร์ เช่น “อะไรเป็นปัจจัยในการเกิดภาวะความเครียดของวัยรุ่น”
4. ปัญหาที่ไม่ได้มาจากผลการทำงาน การตั้งปัญหาไม่ได้อาศัยพื้นฐานจากผลการทำงานหรือการสังเกต แต่คิดขึ้นว่าเป็นปัญหา คิดเอาเอง ตั้งเอง หรือตั้งคำถามด้วยความอยากรู้ หรือสนใจ


ตัวอย่างการเขียนคำถามการวิจัย ที่ดีและไม่ดี
ตัวอย่างที่ 1

การใส่ปลอกแขนปลอกขาในขณะผ่าตัด จะป้องกันภาวะ Hypothermia ในห้องผ่าตัดได้หรือไม่
แบบนี้พอฟังก็นึกภาพได้ส่วนหนึ่งแล้วแต่ยังไม่ชัด เหมือนมวยวัด จึงเขียนใหม่ว่า

ในผู้ป่วยผ่าตัด การสวมปลอกแขนปลอกขาให้ ขณะทำการผ่าตัด ลดการเกิด hypothermia ขณะและหลังผ่าตัด ได้มากกว่า การไม่สวมหรือไม่
ตัวอย่างที่ 2

การนวดประคบเต้านมเพิ่มน้ำนมได้หรือไม่
ยังไม่ชัด ต้องแก้ไขเป็น

ในหญิงหลังคลอด การนวดประคบเต้านมโดยเร็วที่สุดหลังคลอด ทำให้การไหลของน้ำนมใน 24 ชั่วโมง เร็วขึ้นและมากขึ้นกว่าการพยาบาลตามปกติ (คือไม่นวด) หรือไม่
ตัวอย่างที่ 3

ผู้ป่วยผ่าต้อกระจก นอนพัก 2 ชั่วโมงก่อนลุกเดินเพียงพอหรือไม่
สั้นๆห้วนๆพอเข้าใจ แต่นึกไม่ออก เหมือนมวยวัด ควรตั้งคำถามเสียใหม่ว่า


ในผู้ป่วยหลังผ่าต้อกระจก กรให้นอนนิ่งๆ 2 ชั่วโมง หลังผ่าตัด มี “ผล” เหมือนกับการให้นอนนิ่งๆ 4 ชั่วโมง ตามมาตรฐานเดิมหรือไม่

























ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กรุณา แนะนำ อย่างสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์ ครับ ขอบคุณ