5 มีนาคม 2564

บทที่ 5 สมมุติฐานในการวิจัย

บทที่ 5   สมมุติฐานในการวิจัย 
(Research hypothesis)

     สมมติฐานในการวิจัย คือ ข้อความที่คาดคะเนคำตอบของงานวิจัยไว้ล่วงหน้า เป็นการคาดเดาว่าผลการวิจัยของปัญหานั้นๆจะออกมาในลักษณะใด  อาจเป็นการคาดคะเนข้อสรุปที่ยังไม่คงที่ แต่อาจมีความจริง หรือคาดคะเนสถานการณ์บางอย่างที่มีความสัมพันธ์กัน การที่จะคาดเดาคำตอบได้ดีนั้นจะต้องมีเหตุผล และใช้สติปัญญาอย่างรอบคอบ เพื่อจะเป็นแนวทางในการดำเนินการตามกระบวนการวิจัยขั้นต่อไป การทำวิจัยเรื่องหนึ่ง ๆ จะมีสมมติฐานหรือไม่ขึ้นกับระเบียบวิธีวิจัย ถ้ามีสามารถตั้งได้อย่างน้อยหนึ่ง สมมติฐานหรืออาจมากกว่าหนึ่งได้ การวิจัยที่มีสมมติฐานมักเป็นการวิจัยที่ที่อยู่ในลักษณะที่เป็นการหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรหรือเป็นการวิจัยที่อยู่ในลักษณะที่เป็นการเปรียบเทียบ

ความสำคัญของสมมุติฐาน
1. ช่วยชี้แนะแนวทางในการศึกษาค้นคว้าโดยจะชี้ให้ทราบว่าจะค้นคว้าข้อมูลอะไร
2. ช่วยในการวางแผนรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล ทำให้การวิจัยมีจุดมุ่งหมายแน่นอนโดยเน้นในจุดใดจุดหนึ่งแทนที่จะรวบรวมข้อมูลโดยปราศจากจุดมุ่งหมาย
3. เป็นเครื่องเชื่อมโยงกับทฤษฎี สมมุติฐานบางประเภทได้มาจากทฤษฎีโดยการอนุมานสมมุติฐานที่ทดสอบว่าถูกต้องแล้วจะกลายเป็นทฤษฎีต่อไป
4. เป็นเครื่องมือก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการ หน้าที่ของสมมุติฐานคือขยายขอบเขตของความรู้ที่พิสูจน์แล้วให้กว้างขวางออกไป


ลักษณะของสมมติฐานที่ดี
1. ต้องระบุความสัมพันธ์ของตัวแปรที่ศึกษาคาดหมายล่วงหน้าว่าจะเกิดขึ้น โดยอยู่ในรูป "แตกต่างกัน" "มากกว่า" "น้อยกว่า" "สัมพันธ์กัน" "ขึ้นอยู่กับ" เป็นต้น
2. ความสัมพันธ์ที่กล่าวถึงต้องสามารถทดสอบได้ทางสถิติ  นั้นคือตัวแปรที่ศึกษาต้องวัดไว้ สังเกตได้ และความสัมพันธ์นั้นวิเคราะห์ได้ด้วยวิธีทางสถิติ
3. ความสัมพันธ์ที่กล่าวถึงมีเหตุผล เหมาะสม สอดคล้องกับผลการวิจัยและทฤษฎีที่นำมาเป็นกรอบ
4. ประโยคที่เป็นสมมติฐานต้องแสดงความเป็นเหตุเป็นผลที่เหมาะสม น่าเชื่อถือได้

ประเภทของสมมุติฐาน
1. สมมติฐานการวิจัย (Research Hypothesis) เป็นการคาดคะเนผลการวิจัยที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร หรือระหว่างตัวแปรกับเกณฑ์ ที่สมมติฐานควรจะสอดคล้องกับข้อสรุปที่ได้จากการทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น “เพศมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมสุขภาพ” “ผู้ป่วยเอดส์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหลังเข้ากลุ่มบำบัด”
     - สมมติฐานทางการวิจัยมีแบบมีทิศทาง ( Directional hypothesis ) เป็นสมมติฐานที่เขียนระบุอย่างชัดเจนถึงทิศทางของความแตกต่างถึงทิศทางของความแตกต่างระหว่างกลุ่ม โดยมีคำว่า  “ ดีกว่า ” หรือ  “ สูงกว่า ” หรือ “ ต่ำกว่า ” หรือ “ น้อยกว่า” ในสมมติฐานนั้นๆ  “พฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นอยู่ในระดับดี” “รายได้มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพ”
     - สมมติฐานทางการวิจัยไม่มีแบบไม่มีทิศทาง (Nondirectional hypothesis) เป็นสมมติฐานที่ไม่กำหนดทิศทางของความแตกต่าง หรือไม่กำหนดทิศทางของความสัมพันธ์  ดังตัวอย่าง “เพศมีความสัมพันธ์กับระดับความพึงพอใจ” “ปัจจัยด้านประชากร เศรษฐกิจและสังคม มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิต”
2. สมมติฐานทางสถิติ (Statistic Hypothesis)  เป็นสมมติฐานที่ตั้งขึ้นเพื่อใช้ทดสอบว่า สมมติฐานทางการวิจัยที่ผู้วิจัยตั้งไว้เป็นจริงหรือไม่ เป็นสมมติฐานที่เขียนอยู่ในรูปแบบของโครงสร้างทางคณิตศาสตร์ เพื่อให้อยู่ในรูปที่สามารถทดสอบได้ด้วยวิธีการทางสถิติ สัญลักษณ์ที่ใช้เขียนในสมมติฐานทางสถิติจะเป็นพารามิเตอร์เสมอ ที่พบบ่อยๆได้แก่ 
      μ  ( อ่านว่า  มิว) แทนตัวกลางเลขคณิตหรือค่าเฉลี่ยของกลุ่มประชากร
      σ   ( อ่านว่า ซิกมา ) แทนความเบี่ยงเบนมาตรฐานของกลุ่มประชากร
     ρ    ( อ่านว่า  โร ) แทนสหสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร 

สมมติฐานทางสถิติ มี 2 ชนิดคือ
2.1 สมมติฐานที่เป็นกลางหรือไร้นัยสำคัญ (Null hypothesis)   ใช้สัญลักษณ์ คือ  H0
2.2 สมมติฐานอื่น (Alternative hypothesis)   ใช้สัญลักษณ์ คือ  H1

ตัวอย่างการกำหนดสมมุติฐานทางสถิติ
1. ผู้ป่วย stroke ที่ญาติทำกายภาพให้ทุกวัน  μ1  มีค่าคะแนน ADL สูงกว่า ผู้ป่วย stroke ที่ญาติไม่ได้ทำกายภาพทุกวัน  μ2                 (มีทิศทาง)
           H0  :    μ1  <   μ2
           H1  :    μ1  >   μ2
2. รายได้ของประชากรไม่มีความสัมพันธ์กับจำนวนบุตร             (ไม่มีทิศทาง)
          H0  :   รายได้ของประชากร ไม่มีความสัมพันธ์กับจำนวนบุตร  หรือ  ρ  = 0
          H1  :   รายได้ของประชากร มีความสัมพันธ์กับจำนวนบุตร  หรือ     ρ  ≠ 0

หลักการเขียนสมมติฐานการวิจัย
1. ควรเขียนสมมติฐานหลังจากที่ได้อ่านตำรา เอกสารที่เกี่ยวข้องสมบูรณ์แล้ว เพื่อนำมาเป็นข้อมูลสนับสนุนการตั้ง และเป็นแนวทางสำหรับการตั้งสมมติฐานการวิจัย 
2. ต้องสามารถกำหนดตัวแปร และตัวแปรต้องสามารถนำมาพิสูจน์ได้ทางสถิติ
3. ต้องสอดรับกับวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
4. ควรเขียนในรูปของประโยคบอกเล่าดีกว่าประโยคคำถาม ควรมีคำที่แสดงความคาดหวังในประโยค เช่น น่าจะ เพราะสมมติฐานยังไม่เป็นความจริง ยังต้องรอการพิสูจน์จากงานวิจัยเสียก่อน
5. สมมติฐานที่เขียนขึ้นอาจมีทิศทางหรือไม่มีทิศทางก็ได้ขึ้นอยู่กับการทบทวนเอกสาร เช่น
6. ควรเขียนสมมติฐานไว้หลายๆสมมติฐาน โดยพิจารณากลุ่มย่อยตามรายละเอียดของตัวแปร เพราะจะทำให้ได้คำตอบที่ชัดเจนขึ้น

<<<------------------------------------------------------->>>


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กรุณา แนะนำ อย่างสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์ ครับ ขอบคุณ