13 มีนาคม 2564

บทที่ 7 ข้อจำกัดในการวิจัย

 บทที่ 7   ข้อจำกัดในการวิจัย 
(Research limitation)
    
         ข้อจำกัดของการวิจัยเป็นการแจ้งให้ผู้อ่านรายงานการวิจัยได้ทราบว่าในการ ศึกษาวิจัยนี้มีอุปสรรคและข้อจำกัดอะไรบ้างที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้  มีข้อจำกัดอะไรที่ทำให้การศึกษาอาจไม่สมบูรณ์ได้ ถึงแม้ว่าจะมีการวางแผนอย่างดีแล้วก็ตาม ความคลาดเคลื่อน (error) ที่เกิดขึ้นเองจากลักษณะของกลุ่มตัวอย่างหรือตัวแปรภายนอก ฯลฯ และสิ่งนั้นมีผลต่อข้อมูลที่เก็บรวบรวมและการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความรู้ของผู้วิจัยที่มีเกี่ยวกับหัวเรื่องที่ต้องการจะทำการศึกษา และเป็นการบอกกล่าวไว้ให้ผู้อ่านได้ทราบพร้อมทั้งเหตุผลทั้งนี้เพื่อที่ผู้จะนำผลการวิจัยไปใช้ จะได้พิจารณาความจำกัดของการวิจัยเรื่องนั้นๆ ด้วย 
ตัวอย่างการเขียนข้อจำกัดของการวิจัย
  • ในการวัดสายตาของผู้ป่วยใช้แผ่นวัดสายตา ไม่ได้วัดด้วยคอมพิวเตอร์ อาจทำให้ผลการศึกษาไม่แม่นตรงได้ (การใช้เครื่องมือในการเก็บข้อมูล)
  • ในการวัดคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ อาจมีปัญหาในเรื่องความจำย้อนหลังได้ (คุณลักษณะของตัวอย่าง)
  • ในการศึกษาครั้งนี้ไม่สามารถเก็บข้อมูล โดยการสังเกตแบบมีส่วนร่วมได้ (เทคนิคเฉพาะเรื่อง)
  • การศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคเอดส์ครั้งนี้ สามารถเก็บข้อมูลได้เฉพาะผู้ป่วยที่เปิดเผยตัวและยินยอมเข้าร่วมการวิจัย  (การเลือกกลุ่มตัวอย่าง)
  • ในการวัดประสิทธิผลของโปรแกรมสุขศึกษาครั้งนี้ สามารถวัดได้หลังการทดลองเพียงครั้งเดียวเท่านั้น  (ระยะเวลา)
     แต่ข้อจำกัดบางประเด็น ที่อยู่ภายใต้กรอบของการวิจัย หรือภายใต้เงื่อนไขของปัจจัยบางประการ ไม่ควรเขียน แต่ให้หาทางแก้ไขด้วยวิธีทางสถิติอื่น ๆ แทน เช่น
  1. การเลือกกลุ่มตัวอย่าง  “เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างมีที่อยู่ไม่แน่นอนจึงใช้วิธีการเลือกตัวอย่างแทน” (ไม่ควรเขียน) 
  2. คุณลักษณะบางประการของกลุ่มตัวอย่าง (ให้ใช้ Inclusion หรือ exclusion criteria แทน)
  3. การใช้เครื่องมือพิเศษในการเก็บข้อมูล
  4. การใช้เทคนิคเฉพาะเรื่อง
  5. กรอบระยะเวลาและอัตรากำลัง  “เนื่องจากมีเวลาในการดำเนินงานวิจัยน้อย (คนน้อย) จึง.........”


<<<------------------------------------------------------->>>


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กรุณา แนะนำ อย่างสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์ ครับ ขอบคุณ