5 มีนาคม 2564

บทที่ 4 ชื่อเรื่องการวิจัย

บทที่ 4  ชื่อเรื่องการวิจัย 
Research Title


     ชื่อเรื่องวิจัยเป็นจุดแรกที่จะดึงดูดความสนใจ และทำให้ผู้อ่าน มีความเข้าใจใน ปัญหา รวมทั้งวิธีการดำเนินการวิจัยอีกด้วย ดังนั้นการตั้งชื่อเรื่องวิจัยจึงต้องเขียนให้ชัดเจน เข้าใจง่าย ไม่คลุมเครือ ผู้วิจัยจึงต้องระมัดระวังในการตั้งชื่อเรื่องวิจัยให้เหมาะสม ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาดังนี้

  
1. ควรตั้งชื่อเรื่องวิจัยให้สั้น กระชับ ใช้คำเฉพาะเจาะจง ภาษากะทัดรัด เข้าใจง่าย แต่ต้องไม่สั้นเกินจนขาดเนื้อหาที่สำคัญ เช่น ความพึงพอใจของผู้ป่วย โรงพยาบาลเขวาสินรินทร์ (ชื่อไม่บอกว่าพึงพอใจหน่วยงานไหน) อาจต้องขยายชื่อเล็กน้อย เป็น ความพึงพอใจต่อบริการผู้ป่วยนอก ของผู้ป่วย โรงพยาบาลเขวาสินรินทร์
2. ควรตั้งชื่อเรื่องวิจัยให้ตรงกับประเด็นของปัญหา  อ่านแล้วทราบได้ทันทีว่าเป็นวิจัยเกี่ยวกับอะไร อย่าตั้งชื่อเรื่องให้ผู้อ่านตีความไปได้หลายทิศทาง และอย่าพยายามให้ผู้อ่านเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมากเกินจริง
3. ควรตั้งชื่อเรื่องวิจัยที่ประกอบด้วยข้อความ ที่สละสลวย ได้ใจความสมบูรณ์
4. ไม่จำเป็นต้องใส่คำว่า การศึกษา  นำหน้าชื่อเรื่อง เพราะชื่อเรื่องจะบอกอยู่แล้วว่าเป็นการศึกษา
5. ควรตั้งชื่อเรื่องวิจัยโดยการใช้คำที่บ่งบอกให้ทราบถึงประเภทของการวิจัย
   - การวิจัยเชิงสำรวจ มักใช้คำว่า การสำรวจ หรือระบุตัวแปรเลยก็ได้ เช่น  การสำรวจสภาวะสุขภาพของข้าราชการ อ.เขวาสินรินทร์  หรือ ความชุกของภาวะไขมันพอกตับในชาวอีสาน
   - การวิจัยเชิงศึกษาเปรียบเทียบ   มักใช้คำว่า การเปรียบเทียบ นำหน้า เช่น  การเปรียบเทียบส่วนสูงต่อน้ำหนักของนักเรียนประถมศึกษาในเขตและนอกเขตเทศบาลเขวาสินรินทร์
   - การวิจัยเชิงสหสัมพันธ์  มักใช้คำว่า ความสัมพันธ์ ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ นำหน้าชื่อเรื่อง เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างความขัดแย้งกับพ่อแม่และการปรับตัวของวัยรุ่น   ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการฝากครรภ์ล่าช้าของหญิงตั้งครรภ์ อำเภอเขวาสินรินทร์ เป็นต้น
   - การวิจัยเชิงทดลอง  อาจตั้งชื่อได้แตกต่างกัน ออกไปตามลักษณะของการทดลอง เช่น อาจใช้คำว่า การทดลอง การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การศึกษา การเปรียบเทียบ ฯลฯ นำหน้า หรืออาจจะไม่ใช้คำเหล่านี้นำหน้าก็ ได้ เช่น ผลการให้สุขศึกษาต่อพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวาน ชนิดที่สอง
6. การตั้งชื่อเรื่องวิจัยควรมีองค์ประกอบที่สำคัญ  5 หัวข้อ คือ
   3.1 ต้องระบุตัวแปรตาม หรือ ตัวแปรหลัก (ต้องมี) เช่น อุบัติการณ์ทารกคลอดก่อนกำหนดในมารดาวัยรุ่น โรงพยาบาลสุรินทร์ พ.ศ.2558  (อุบัติการณ์ทารกคลอดก่อนกำหนด = ตัวแปรหลัก  มารดาวัยรุ่น = ประชากร  โรงพยาบาลสุรินทร์ = สถานที่  พ.ศ.2558 = ช่วงเวลา)
   6.2 ต้องระบุกลุ่มตัวอย่าง หรือประชากร (ต้องมี) เช่น พฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวาน
   6.3 มีตัวแปรต้น  เช่น ปัจจัยส่วนบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในตำบลตากูก อำเภอเขวาสินรินทร์  (ปัจจัยส่วนบุคคล = ตัวแปรต้น มีความสัมพันธ์ = วิธีการวิจัย คุณภาพชีวิต = ตัวแปรตาม ผู้สูงอายุ = ประชากร)
   6.4 ระบุวิธีการวิจัยย่อๆ
   6.5 ระบุสถานที่ / ช่วงเวลา 


----------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กรุณา แนะนำ อย่างสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์ ครับ ขอบคุณ