26 มีนาคม 2564

บทที่ 9 นิยามศัพท์

บทที่ 9   นิยามศัพท์ 
(Definitions)

          นิยามศัพท์ หมายถึง  การให้ความหมายคำเฉพาะที่ใช้ในการวิจัย  เพื่อให้ผู้วิจัยและเข้าใจความหมายคำตรงกัน  คำนิยามต้องคำนึงถึงการนิยามตัวแปร เพราะจะช่วยให้การเก็บข้อมูลได้ถูกต้องและน่าเชื่อถือ นิยามศัพท์มี 2  ประเภท  คือ
  1. นิยามเชิงความหมาย  เป็นนิยามศัพท์นั้น ๆ  โดยอธิบายความหมาย เช่น  สติปัญญา หมายถึง  ความจำทางสมองที่จะคิดให้เหตุผลและแก้ปัญหาต่าง ๆ 
  2. นิยามเชิงปฏิบัติการ  เป็นการให้ความหมายของคำ  โดยกำหนดพฤติกรรมบ่งชี้หรือเครื่องมือชี้วัดเช่น สติปัญญา  หมายถึง คะแนนที่ได้จากการวัดด้วยแบบทดสอบมาตรฐานสำหรับวัด

          ในการให้คำนิยามนั้นควรให้ทั้งนิยามความหมายและนิยามปฏิบัติการ  ผสมผสานกันไปในทางเดียวกัน แต่ไม่ต้องให้คำนิยามศัพท์ทุกคำศัพท์ที่ผู้วิจัยต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจตรงกัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำที่เป็นตัวแปรตามที่เป็นนามธรรม เช่น แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ เชาว์ปัญญาทางอารมณ์ ความพึงพอใจในการบริการ เจตคติต่อสินค้า เป็นต้น  และถ้ามีการอ้างอิงแหล่งที่มาด้วย ก็จะทำให้มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น  
          งานวิจัยที่เกี่ยวข้องซึ่งจะต้องนิยามให้อยู่ในรูปของนิยามปฏิบัติการ จึงจะสามารถสร้างเครื่องมือวิจัยที่มีคุณภาพด้านความเที่ยงตรงนิยามปฏิบัติการ (Operational Definition) เรียกสั้น ๆ ว่า O.D. คือ การให้ความหมายตัวแปรที่สำคัญ โดยเฉพาะตัวแปรตาม (Dependent Variable) ที่ต้องการศึกษา หรือตัวแปรอิสระที่มีลักษณะเป็นนามธรรม ซึ่งจะต้องนิยามให้เป็นคุณลักษณะพฤติกรรม และหรือกิจกรรมที่จะศึกษา ให้อยู่ในรูปที่วัดได้ สังเกตได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างเครื่องมือวิจัยให้มีความเที่ยงตรง (Validity)

ประเภทของการเขียนนิยามศัพท์เฉพาะ
  1. คำนิยามแบบทั่วไป (เชิงทฤษฎี)  เป็นการกำหนดความหมายโดยทั่วไปอย่างกว้าง ๆ อาจให้ความหมายตามทฤษฎี พจนานุกรม หรือตามผู้เชี่ยวชาญก็ได้ เป็นการนิยามในรูปมโนภาพซึ่งยากแก่การปฏิบัติ ไม่รู้ว่าจะวัดได้โดยวิธีใด และใช้อะไรวัด เช่น
    "ความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ หมายถึง ความจำ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเอดส์ของกลุ่มตัวอย่าง"  (สังเกตว่าไม่เห็นมิติของการวัดตัวแปรหรือสร้างเครื่องมือ)
  2. คำนิยามศัพท์เฉพาะ ในการวิจัยมักจะต้องให้ความหมายของคำบางคำที่ใช้ในรายงานการวิจัย ให้เฉพาะเจาะจงในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย เพื่อให้ผู้วิจัยและผู้อ่านมีความเข้าใจตรงกัน
    ดังนั้นนักวิจัยจะทำการวิจัยเรื่องใดจะต้องนิยามศัพท์เฉพาะแต่ละตัวให้ชัดเจนก่อน ซึ่งจะช่วยให้งานวิจัยอยู่ในกรอบมากยิ่งขึ้นอีกด้วย เช่น 
    "ความรู้ หมายถึง ความจำ ความเข้าใจของกลุ่มตัวอย่างในเรื่อง สาเหตุ อาการ การรักษา และภาวะแทรกซ้อนของโรคเอดส์" (สังเกตว่าจะเห็นมิติของการวัดตัวแปรหรือสร้างเครื่องมือชัดเจนขึ้น) 
    "รายได้ หมายถึง จำนวนเงินโดยเฉลี่ยก่อนหักค่าใช้จ่ายของกลุ่มตัวอย่าง หน่วยเป็น บาทต่อเดือน"

การให้นิยามศัพท์เฉพาะจะนำไปสู่การออกแบบสอบถามหรือแบบเก็บข้อมูลด้วย  เช่น
  • อายุ หมายถึง ระยะเวลาตั้งแต่คลอดของกลุ่มตัวอย่าง นับเป็นจำนวนปีเต็ม ถึงวันสัมภาษณ์ แบบสอบถาม จะถามว่า   
    - ท่านมีอายุ ......... ปี (นับปีเต็มถึงวันสัมภาษณ์)
  • อายุ หมายถึง วัยทางประชากรของกลุ่มตัวอย่าง   แบบสอบถามจะถามว่า 
    - ปัจจุบันท่านมีอายุ   (   ) วัยเด็ก    (   ) วัยรุ่น   (   ) วัยทำงาน   (   ) วัยสูงอายุ 

<<<------------------------------------------------------->>>


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กรุณา แนะนำ อย่างสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์ ครับ ขอบคุณ